วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กาย 3 ชนิด

จิตกับวิญญาณ (ธาตุรู้กับการรับรู้อารมณ์)


เนื่องจากจิตสามัญชน คุ้นเคยกับอารมณ์ทั้งหลายมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ดังนั้น เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ก็ย่อมรับรู้และยึดถืออารมณ์นั้นๆไว้เสมอไป จึงเกิดวิญญาณ ๖ ขึ้น

แต่จิตพระอริยะนั้น ได้รับการอบรมให้ปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายที่เข้ามากระทบเสีย วิญญาณ ๖ จึงดับหมดสิ้น เหลืออยู่แต่จิตบริสุทธิ์ นิ่ง สงบอยู่เท่านั้น

การรู้ของพระอริยะนี้เป็นเพียง รู้สักแต่ว่ารู้ (ญาณมตฺตาย) ระลึกก็สักแต่ว่าระลึก (ปฏิสฺสติมตฺตาย) เท่านั้น ไม่มีตัณหาและมิจฉาทิฏฐิปรุงแต่งอยู่ด้วย ดังพระบาลีว่า: "วิญฺญาณสฺส นิโรเธน ตณฺหกฺขย วิมุตฺติโน ปชฺโชตสฺ เสว วิญฺญาณํ วิโมกฺโข เจตโส อหุ" แปลว่า "จิตพระขีณาสพพ้นจากวิญญาณปรุงแต่ง เพราะหลุดพ้นจากตัณหาได้ เหมือนเปลวไฟที่แลบดับ เนื่องจากวิญญาณดับหมดสิ้น" จิตพระอริยะนั้นบริสุทธิ์,ไม่ได้ดับ การรับรู้อารมณ์เท่านั้นที่ดับไปจากจิต ส่วนจิตสามัญชน มีตัณหาและมิจฉาทิฏฐิ กำกับอยู่ด้วย จึงดูเหมือนว่าพลอยเกิดดับไปพร้อมอารมณ์ และหลงเข้าใจผิดว่าตัวเองเกิดดับ.

กายมี ๓ ชั้น

คติธรรมทางพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า ในอัตภาพร่างกายของคนและสัตว์ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ มีกายซ้อนกันอยู่ ๓ ชั้น คือ กายธรรม(จิต) ๑, กายทิพย์(นามกาย) ๑, กายเนื้อ(รูปกาย) ๑

กายธรรม (จิต) ๑ เป็นกายชั้นในสุดของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่เป็นอยู่ และดำรงไว้ซึ่ง ความรู้ ของตนเองตลอดทุกกาลสมัย โดยมิได้เกิดจากเหตุปัจจัยทำให้มีให้เป็นเลย แลเห็นด้วยตาเนื้อไม่ได้ ความรู้ของคน ก็รู้อย่างคน,ความรู้ของสัตว์ ก็รู้อย่างสัตว์, ความรู้ของพระพรหม ก็รู้อย่างพระพรหม ต่างกันเป็นพวกๆ ไป มีปรากฏในอัคคัญสูตรว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า กายธรรมก็ดี,กายพรหมก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นชื่อของตถาคตทั้งสิ้น" ไม่เคยเกิดไม่เคยดับตายหายสูญไปไหนเลย กายธรรมนี้เมื่อได้เข้ามาอยู่ในโลก คือ เป็นคนหรือเป็นสัตว์ก็ดี ก็เป็นประธานของสังขารธรรมทั้งหลาย และมีคุณภาพปราดเปรียวว่องไวในการเคลื่อนตัวไปรับรู้อารมณ์ได้อย่างรวดเร็วที่สุด ไม่มีวัตถุทึบอย่างใดขวางกั้นไว้ได้เลย และอยู่เหนือการเกิดการตายของสังขารธรรมอย่างสิ้นเชิง นั่นก็คือ กายธรรม เป็น อมตธรรม.

กายทิพย์ ๑

กายทิพย์ หรือนามกาย หรือนามรูป หรือทิพยกาย หรือโอปปาติกะ หรืออทิสสมานกาย มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ เป็นกายละเอียดที่ห่อหุ้มกายธรรมไว้ กายทิพย์ เป็นกายที่เกิดจากจิตยึดถือความนึกคิดถึงอารมณ์ไว้ ดังนั้น จึงสามารถเคลื่อนไหวออกจากความรู้สึกนึกคิดเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่ง ได้อย่างปราดเปรียวเหมือนกายธรรม และเปลี่ยนคุณภาพเป็นผ่องใสบ้าง,เศร้าหมองบ้างตามความคิดปรุงแต่งให้เป็นไป ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน ตลอดเวลาที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักร แต่ถ้าปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ จนแยกเรื่องที่นึกคิดออกไปได้อย่างสิ้นเชิง จนบรรลุอรหัตตผลแล้ว กายทิพย์จึงแตกตายสนิท ดังนั้น เมื่อรูปกายเนื้อแตกตาย ก็จะไม่มีกายทิพย์ จุติ-ปฏิสนธิ ต่อไปอีกเลย

กายเนื้อ ๑



กายเนื้อหรือรูปกายเป็นกายหยาบ ประกอบด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เกิดจากบิดา-มารดา เติบโตด้วยข้าวสุก ขนมสด มีทวาร ๕ แห่งสำหรับรับรู้อารมณ์ภายนอก คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส มีอายุยืนเพียงชาติเดียว สั้นบ้าง,ยาวบ้าง แต่ไม่เกิน ๑๐๐ ปีเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็ตาย กายเนื้อ สามารถแลเห็นได้ด้วยตา เป็นกายชั้นนอก ที่สุดของคนและสัตว์ทั้งหลาย

สรุป :

ในอัตภาพร่างกายของทั้งมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย มี จิตหรือกายธรรมเป็นประธาน ซ้อนอยู่ภายในกายทิพย์ และกายทิพย์ก็ซ้อนอยู่ภายในกายเนื้อ รวมเป็น ๓ ชั้นด้วยกัน กายทั้ง ๓ ชั้นนี้ มีความเป็นอยู่เกี่ยวเนื่องและเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันตลอดเวลา

หมายเหตุ :

คำว่า เกิด-ตาย หมายถึง การเกิดและการตายของรูปกายเนื้อเท่านั้น

คำว่า จุติ-ปฏิสนธิ หมายถึง การเคลื่อนออก และการหยั่งลงเกิดของกายทิพย์ ซึ่งเป็นการอุบัติขึ้นทางจิตโดยเฉพาะ กายทิพย์ไม่ได้เกิด-ตายตามกายเนื้อไปด้วย.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิทยุออนไลน์

ยินดีต้อนรับทุกๆท่านที่ชอบฟังธรรมะ

 สวดมนต์จีน >::สวดมนต์อินเดีย >และสวดมนต์ธิเบต>::สวดมนต์ไทย >::เสียงหนังสือธรรมะ >::เสียงเพลงธรรมะ::,

 ::suwanradio คือมิตรภาพบนโลกไอที ::
 

สถานีความแห่งความรู้สาระธรรมบนโลกอินเตอร์เน็ต ศูนย์รวมแห่งเสียงธรรมะดีดี 


วิทยุวัดป่าดอนสวรรค์

Blogger Tricks


 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons