วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

จิต ตัวตน คือเรา

ถ้าจิตไม่เข้าไปยึดถืออารมณ์ ก็ย่อมพ้นจากความตาย


ความตาย เป็นรูปแบบการเปลี่ยนแปรครั้งสุดท้ายของรูปร่างกาย หลังจากที่ได้ประชุมปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว พระพุทธองค์ ทรงหมายความถึง แตกแยกออกจากการประชุมพร้อมของ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ(จิต) แยกตัวออกไปผสมกับกลุ่มธาตุผสมกลุ่มอื่นต่อไป ตามเหตุปัจจัย ขณะสิ้นใจ

พูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือ วิญญาณธาตุ(จิต) จุติ (เคลื่อน)ออกจากรูปร่างกาย ซึ่งได้ปรวนแปรแตกแยกไป จนไม่สามารถกลับคืนมาสู่สภาพปรกติ,เท่านั้น ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน

โปรดดูคำจำกัดความของคำว่า ความตาย ใน สติปัฏฐานสูตร ซึ่งว่าไว้ดังนี้ คือ ความจุติ,ความเคลื่อนไป,ความแตกทำลาย,ความหายไป,มฤตยู,ความตาย,ความทำกาละ,ความแตกแห่งขันธ์,ความทิ้งซากศพไว้,ความขาดไปแห่งชีวิตินทรีย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จิตแยกออกจากรูปร่างกายนี้ทั้งสิ้น

เราจะเห็นได้ว่า จิตไม่ใช่สภาพธรรมที่ตาย แต่ได้เข้ามายึดถือและปฏิสนธิรวมอยู่กับร่างกายซึ่งจะต้องตายตามอายุขัย เมื่อร่างกายถึงเวลาแตกตายลง ก็เข้าใจว่าตนพลอยตายไปตามร่างกายด้วย ทั้งๆที่ตัวเองไม่ได้ตายเลย สิ่งที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ รูปร่างกาย ซึ่งเป็นสังขารธรรมที่ประชุมพร้อมกันขึ้นมาฝ่ายรูปธรรม เรียกว่า มหาภูตรูป ๔ ด้วยเหตุนี้ ความตายจึงมีขึ้นแก่ผู้ที่หลงผิดยึดเอารูปร่างกายซึ่งเป็นสังขารธรรม,ว่าเป็นอัตตาตัวตนของตนเองเข้า กล่าวคือ เมื่อรูปร่างกายแก่ ก็ว่าเราแก่ เมื่อรูปร่างกายเจ็บไข้ ก็ว่าเราเจ็บไข้ และเมื่อรูปร่างกายตาย ก็ว่าเราตาย ทั้งๆที่ ตัวเราจริงๆ ไม่เคยเกิด ไม่เคยแก่ ไม่เคยเจ็บไข้ และไม่เคยตายมาเลย ไม่ว่าตั้งแต่ครั้งไหน ๆ ก็ตาม เพราะฉะนั้น ถ้าจิตไม่เข้าไปยึดถืออารมณ์ ก็ย่อมพ้นจากความตายเมื่อนั้น นับเป็นการพ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนานี้ ดังพุทธพจน์ที่ได้ตรัสกับโมฆราชมาณพ ต่อไปนี้คือ "สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ เอวํ มจฺจุตฺตโรสิยา เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ" แปลว่า "ดูก่อนโมฆราช ท่านจงตั้งสติพิจารณาโลก(ร่างกาย)ว่าเป็นของว่าง โดยถอนอัตตานุทิฏฐิออกไปเสีย ด้วยการพิจารณาโลก ดังนี้ พระยามัจจุราช ก็จะแลไม่เห็นท่าน และท่านก็จะพ้นจากความตาย".

จิต ตน ธรรม เรา คือ สิ่งเดียวกัน

มีเรื่องบรรยายในมหาปรินิพพานสูตร ตอนหนึ่งว่า ครั้งหนึ่ง ขณะที่พระอานนท์ได้เข้ากราบทูลถามพระอาการประชวร ของพระพุทธองค์ว่าทรงเป็นอย่างไรบ้างนั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบว่า

อานนท์ จิตของเราได้ตั้งอยู่ ณ ที่ อนิมิตตเจโตสมาธิวิหาร ไม่มีนิมิตหมายอื่นใดอยู่ เราจึงหายป่วยแล้ว เราไม่ได้ป่วย แต่ที่ป่วยนั้นเป็นเรื่องของร่างกาย

ด้วยเหตุนี้แหละอานนท์ เธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง หรือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ดังนี้

พระพุทธองค์ทรงแสดงชัดเจนว่า จิต ตน ธรรม เรา คือสิ่งเดียวกัน ส่วนรูปร่างกายนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นที่อาศัยของเราเท่านั้น

คำว่า อนิมิตตเจโตสมาธิวิหาร นั้น หมายถึง จิตที่ได้รับการฝึกฝนให้สลัดอารมณ์ทุกชนิดออกไปอย่างหมดจดสิ้นเชิง ด้วยความชำนาญคล่องแคล่ว โดยการฝึกฝนปฏิบัติ“สัมมาสมาธิ” ในสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งจัดเป็น จิตชั้นพุทโธ ดังนั้นจึงตรัสว่า จิต ตน ธรรม เรา คือสิ่งเดียวกัน.

พระพุทธองค์ทรงสอนพระวักกลิว่า จิตคือเรา

พระวักกลิ เป็นพระภิกษุรูปหนึ่ง ที่เข้าใจผิดว่า รูปร่างกายคือเรา จึงได้ตามเสด็จพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด ด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่องว่าได้เข้าใกล้ชิด และเข้าถึงพระพุทธเจ้าแล้ว ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงทราบความในใจของพระวักกลิเรื่องนี้อยู่ เมื่อได้โอกาสจึงตรัสว่า วักกลิ เธอสำคัญมั่นหมายเอารูปร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งปฏิกูลเน่าเปื่อยได้ของเรา ว่าเป็นเรา และ กระหยิ่มยิ้มย่องว่าได้อยู่กับเรา ใกล้เรา ถึงเรา คนตาบอดมืดมิดเช่นเธอ ไม่ต้องพูดถึงการเดินตามหลังก็ได้ ต่อให้จับชายจีวรของเราไว้อีกด้วย ก็ไม่เห็นเรา ไม่รู้จักเรา ไม่ถึงเรา ไม่ใกล้เรา แต่ต่างกันอย่างฟ้ากับดินทีเดียว ทางตั้งแต่ที่นี้ไปถึงเขาจักรวาลที่ว่าไกลนั้น ก็ยังนับว่าใกล้กว่า แต่เธอกับเราห่างกันไกลยิ่งกว่านั้น เป็นแสนไกลล้านไกลทีเดียว วักกลิ เมื่อเธอต้องการจะเห็นเรา ใกล้เรา ถึงเรา เราก็จะบอกทางให้ แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า "โย ธมฺมํ ปสฺสติ โสมํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา"

แสดงว่า จิต คือ ธรรม คือ เรา ส่วน รูปร่างกาย ไม่ใช่เรา แต่ เป็นที่อาศัยของเรา เท่านั้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิทยุออนไลน์

ยินดีต้อนรับทุกๆท่านที่ชอบฟังธรรมะ

 สวดมนต์จีน >::สวดมนต์อินเดีย >และสวดมนต์ธิเบต>::สวดมนต์ไทย >::เสียงหนังสือธรรมะ >::เสียงเพลงธรรมะ::,

 ::suwanradio คือมิตรภาพบนโลกไอที ::
 

สถานีความแห่งความรู้สาระธรรมบนโลกอินเตอร์เน็ต ศูนย์รวมแห่งเสียงธรรมะดีดี 


วิทยุวัดป่าดอนสวรรค์

Blogger Tricks


 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons