วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ธาตุในพระพุทธศาสนา

ธาตุในพระพุทธศาสนา




คำว่า ธาตุ หมายถึง สิ่งที่มีอยู่เดิม หรือ สิ่งที่เป็นต้นเดิม เป็นสภาพที่รักษาคุณสมบัติเดิมของตนเองไว้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปรหรือเสื่อมสิ้นไปตามกาลเวลาที่ล่วงไป ๆ

หมายความว่า เดิมมีคุณภาพอย่างไร ก็คงมีคุณภาพอย่างนั้นอยู่เสมอ เช่น ธาตุดิน ก็ย่อมรักษาความแค่นแข็งของตัวเองไว้ ไม่กลับกลายหรือเสื่อมเป็นธาตุอื่น ธาตุน้ำ ก็ย่อมรักษาความเอิบอาบ เหลวและไหลไว้ตลอดกาล ไม่กลับกลายเป็นธาตุไฟไปได้ ดังนี้เป็นต้น มีพระบาลีในวิภังคสูตร ว่าไว้ดังนี้ "ฉ ธาตุโย อยํ ปุริโส" แปลว่า "ในรูปร่างกายของคนเรานี้ มีธาตุอยู่ ๖ ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ(จิต) ซึ่งประชุมปรุงแต่งให้เป็นรูปร่างกายอยู่ได้ ถ้าขาดธาตุใดธาตุหนึ่งไปเสีย รูปร่างกายนี้ก็ย่อมวิปริต พิกล พิการ แตกทำลายลงได้" ทั้งนี้หมายความว่า ธาตุทั้ง ๖ แต่ละธาตุ ต่างก็รักษาคุณภาพของตัวเองไว้ตลอดทุกกาลสมัย ไม่มีการเสื่อมสูญ หรือที่เรียกว่า ไม่ตกอยู่ในอำนาจพระไตรลักษณ์เลย ส่วนรูปร่างกายซึ่งเกิดจากธาตุทั้ง ๖ มาประชุมพร้อมกันนั้น ย่อมต้องปรวนแปรไปจากเดิมตามกาลเวลาที่ล่วงไป ไม่อาจตั้งอยู่คงที่ได้ กล่าวคือ รูปร่างกาย ตกอยู่ในอำนาจ พระไตรลักษณ์ ไม่ว่าเป็นรูปชนิดใดก็ตาม ซึ่งเรียกว่า ไม่เที่ยง(อนิจฺจํ) เป็นทุกข์(ทุกฺขํ) ไม่ใช่ตัวตน(อนตฺตา) จัดเป็นธาตุผสม.

รายละเอียดของธาตุ ๖



๑.ธาตุดิน (ความแค่นแข็ง)

๒.ธาตุน้ำ (ความเอิบอาบเหลวไหล)

๓.ธาตุลม (ความพัดไหวไปมา)

๔.ธาตุไฟ (ความร้อน)

๕.อากาศธาตุ (ความว่าง)

๖.วิญญาณธาตุ (ธาตุรู้ คือ จิต)



ธาตุทั้ง ๖ เหล่านี้ เป็นธาตุแท้ดั้งเดิม ที่ไม่ไ่ด้เ้กิดจากเหตุปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้น สามารถเรียกว่าเป็น แม่ธาตุ ซึ่งเป็นแดนเกิดของธาตุผสมต่างๆทุกชนิดในโลกนี้ทีเดียว ธาตุแต่ละธาตุเหล่านี้ ไม่ได้แยกตัวกันอยู่เป็นเอกเทศเลย ต้องคุมตัวเข้าผสมกันเสมอ ถ้าต้องสลายตัวออกจากกลุ่มธาตุที่ได้ผสมกันแล้ว,กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ตาม ย่อมต้องเข้าผสมกับกลุ่มธาตุอื่นต่อไปอีกเสมอ ธาตุที่ ๑ ถึงธาตุที่ ๕ เป็นธาตุที่รวมกันเข้าเป็น รูป ในเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย และความนึกคิดทางใจ ที่เรียกว่า อารมณ์ เหล่านี้ เกิดขึ้นจากการผสมตัวของธาตุ หรืออาศัยธาตุดังกล่าวเป็นแดนเกิดทั้งสิ้น สำหรับอากาศธาตุนั้น โดยปรกติมักละไว้ในฐานที่เข้าใจเสมอ คือไม่ค่อยเอ่ยถึง คงเอ่ยถึงแต่เพียง ๔ ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เท่านั้น เมื่อรวมกันแล้วเรียกว่า มหาภูตรูป ๔ (รูปที่หลอกลวงที่เกิดจากธาตุ ๔) ดังนั้น มหาภูตรูป ๔ จึงตกอยู่ในอำนาจ พระไตรลักษณ์ ต้องปรวนแปรเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเป็นธรรมดา



ส่วนแต่ละธาตุที่ผสมกันขึ้นเป็นรูปนั้น ย่อมดำรงตัวเที่ยงแท้เป็นเช่นนั้น เมื่อ รูป แตกแยกออกเมื่อใด ธาตุดินก็แยกไปเป็นดิน ธาตุน้ำก็แยกไปเป็นน้ำ ธาตุไฟก็แยกไปเป็นไฟ ธาตุลมก็แยกไปเป็นลม และธาตุรู้ก็เคลื่อนจุติออกไปตามกรรมของตน ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหนเลย รวมความว่า ธาตุแต่ละธาตุ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ที่ได้รวมกันเป็นรูปนั้น,เที่ยงแท้ถาวรในฝ่าย รูปธรรม และวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้ คือ จิต)นั้น ก็เที่ยงแท้ถาวรในฝ่าย นามธรรม ต้องเคลื่อนตัวออกไปเมื่อมหาภูตรูปแตกแยกเสมอ ดังพุทธพจน์ที่มาในมหาปรินิพพานสูตรต่อไปนี้ คือ "จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตาเสว ชาติสุ" แปลว่า "ความเวียนว่ายของเรา เข้าไปในชาติน้อยใหญ่ทั้งหลาย อันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น เพราะมิได้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนี้" ผู้ที่มีสติปัญญาทั้งหลาย อย่างเช่นเราๆ ท่านๆ ย่อมต้องเข้าใจว่า มีสิ่งที่มีลักษณะเที่ยงแท้เป็นแก่นสารอยู่สิ่งหนึ่ง คือ จิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เข้าไปเวียนว่ายจากพระชาติหนึ่งถึงอีกพระชาติหนึ่ง และพระชาติติดต่อกันไป เป็นเวลาอันยาวนานนับไม่ถ้วน,ก่อนตรัสรู้ และจิตดวงนี้ได้ยืนตัวเป็นประธานอยู่ทุกชาติ ไม่ว่าจะเปลี่ยนพระชาติไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม ทั้งนี้ย่อมแสดงว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน แต่รูปร่างกาย ซึ่งถือเอากำเนิดเป็นชาตินั้นต่างหาก,ที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร คือ เปลี่ยนชาติใหม่ทุกชาติ ถ้าจิตเกิดดับเป็นคนละดวง คือ เปลี่ยนใหม่ตามร่างกายในแต่ละพระชาติด้วยแล้ว ก็ย่อมตรัสว่า พระองค์ได้ทรงเข้าไปเวียนว่ายในพระชาติเหล่านั้น,ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จิตจึงไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดดับ แต่จิตชั้นพระสัมมาสัมพุทโธ รู้อยู่ว่า รูปร่างกายในแต่ละพระชาติ เกิดแล้วก็ตายไป ตามกาลเวลาที่ผ่านไปๆโดยลำดับ นานแสนนานมาแล้ว ซึ่งเป็นใจความในพุทธพจน์ข้อนี้ และได้ทรงตรัสต่ออีกว่า

"ตานิ เอตานิ ทิฏฺฐานิ ภวเนตฺติ สมูหตา อุจฺฉินฺนํ มูลํ ทุกฺขสฺส นตฺถิ ทานิ ปุนพฺ ภโวติ" แปลว่า "บัดนี้ เราได้ถอนความเห็นผิดในเรื่องภพ และมูลเหตุแห่งทุกข์ออกเสียหมดสิ้นแล้ว,ภพใหม่ต่อไปจึงไม่มีอีก".

กาย 3 ชนิด

จิตกับวิญญาณ (ธาตุรู้กับการรับรู้อารมณ์)


เนื่องจากจิตสามัญชน คุ้นเคยกับอารมณ์ทั้งหลายมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ดังนั้น เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ก็ย่อมรับรู้และยึดถืออารมณ์นั้นๆไว้เสมอไป จึงเกิดวิญญาณ ๖ ขึ้น

แต่จิตพระอริยะนั้น ได้รับการอบรมให้ปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายที่เข้ามากระทบเสีย วิญญาณ ๖ จึงดับหมดสิ้น เหลืออยู่แต่จิตบริสุทธิ์ นิ่ง สงบอยู่เท่านั้น

การรู้ของพระอริยะนี้เป็นเพียง รู้สักแต่ว่ารู้ (ญาณมตฺตาย) ระลึกก็สักแต่ว่าระลึก (ปฏิสฺสติมตฺตาย) เท่านั้น ไม่มีตัณหาและมิจฉาทิฏฐิปรุงแต่งอยู่ด้วย ดังพระบาลีว่า: "วิญฺญาณสฺส นิโรเธน ตณฺหกฺขย วิมุตฺติโน ปชฺโชตสฺ เสว วิญฺญาณํ วิโมกฺโข เจตโส อหุ" แปลว่า "จิตพระขีณาสพพ้นจากวิญญาณปรุงแต่ง เพราะหลุดพ้นจากตัณหาได้ เหมือนเปลวไฟที่แลบดับ เนื่องจากวิญญาณดับหมดสิ้น" จิตพระอริยะนั้นบริสุทธิ์,ไม่ได้ดับ การรับรู้อารมณ์เท่านั้นที่ดับไปจากจิต ส่วนจิตสามัญชน มีตัณหาและมิจฉาทิฏฐิ กำกับอยู่ด้วย จึงดูเหมือนว่าพลอยเกิดดับไปพร้อมอารมณ์ และหลงเข้าใจผิดว่าตัวเองเกิดดับ.

กายมี ๓ ชั้น

คติธรรมทางพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า ในอัตภาพร่างกายของคนและสัตว์ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ มีกายซ้อนกันอยู่ ๓ ชั้น คือ กายธรรม(จิต) ๑, กายทิพย์(นามกาย) ๑, กายเนื้อ(รูปกาย) ๑

กายธรรม (จิต) ๑ เป็นกายชั้นในสุดของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่เป็นอยู่ และดำรงไว้ซึ่ง ความรู้ ของตนเองตลอดทุกกาลสมัย โดยมิได้เกิดจากเหตุปัจจัยทำให้มีให้เป็นเลย แลเห็นด้วยตาเนื้อไม่ได้ ความรู้ของคน ก็รู้อย่างคน,ความรู้ของสัตว์ ก็รู้อย่างสัตว์, ความรู้ของพระพรหม ก็รู้อย่างพระพรหม ต่างกันเป็นพวกๆ ไป มีปรากฏในอัคคัญสูตรว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า กายธรรมก็ดี,กายพรหมก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นชื่อของตถาคตทั้งสิ้น" ไม่เคยเกิดไม่เคยดับตายหายสูญไปไหนเลย กายธรรมนี้เมื่อได้เข้ามาอยู่ในโลก คือ เป็นคนหรือเป็นสัตว์ก็ดี ก็เป็นประธานของสังขารธรรมทั้งหลาย และมีคุณภาพปราดเปรียวว่องไวในการเคลื่อนตัวไปรับรู้อารมณ์ได้อย่างรวดเร็วที่สุด ไม่มีวัตถุทึบอย่างใดขวางกั้นไว้ได้เลย และอยู่เหนือการเกิดการตายของสังขารธรรมอย่างสิ้นเชิง นั่นก็คือ กายธรรม เป็น อมตธรรม.

กายทิพย์ ๑

กายทิพย์ หรือนามกาย หรือนามรูป หรือทิพยกาย หรือโอปปาติกะ หรืออทิสสมานกาย มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ เป็นกายละเอียดที่ห่อหุ้มกายธรรมไว้ กายทิพย์ เป็นกายที่เกิดจากจิตยึดถือความนึกคิดถึงอารมณ์ไว้ ดังนั้น จึงสามารถเคลื่อนไหวออกจากความรู้สึกนึกคิดเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่ง ได้อย่างปราดเปรียวเหมือนกายธรรม และเปลี่ยนคุณภาพเป็นผ่องใสบ้าง,เศร้าหมองบ้างตามความคิดปรุงแต่งให้เป็นไป ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน ตลอดเวลาที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักร แต่ถ้าปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ จนแยกเรื่องที่นึกคิดออกไปได้อย่างสิ้นเชิง จนบรรลุอรหัตตผลแล้ว กายทิพย์จึงแตกตายสนิท ดังนั้น เมื่อรูปกายเนื้อแตกตาย ก็จะไม่มีกายทิพย์ จุติ-ปฏิสนธิ ต่อไปอีกเลย

กายเนื้อ ๑



กายเนื้อหรือรูปกายเป็นกายหยาบ ประกอบด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เกิดจากบิดา-มารดา เติบโตด้วยข้าวสุก ขนมสด มีทวาร ๕ แห่งสำหรับรับรู้อารมณ์ภายนอก คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส มีอายุยืนเพียงชาติเดียว สั้นบ้าง,ยาวบ้าง แต่ไม่เกิน ๑๐๐ ปีเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็ตาย กายเนื้อ สามารถแลเห็นได้ด้วยตา เป็นกายชั้นนอก ที่สุดของคนและสัตว์ทั้งหลาย

สรุป :

ในอัตภาพร่างกายของทั้งมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย มี จิตหรือกายธรรมเป็นประธาน ซ้อนอยู่ภายในกายทิพย์ และกายทิพย์ก็ซ้อนอยู่ภายในกายเนื้อ รวมเป็น ๓ ชั้นด้วยกัน กายทั้ง ๓ ชั้นนี้ มีความเป็นอยู่เกี่ยวเนื่องและเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันตลอดเวลา

หมายเหตุ :

คำว่า เกิด-ตาย หมายถึง การเกิดและการตายของรูปกายเนื้อเท่านั้น

คำว่า จุติ-ปฏิสนธิ หมายถึง การเคลื่อนออก และการหยั่งลงเกิดของกายทิพย์ ซึ่งเป็นการอุบัติขึ้นทางจิตโดยเฉพาะ กายทิพย์ไม่ได้เกิด-ตายตามกายเนื้อไปด้วย.

จิตกับร่างกาย

จิตกับร่างกาย


เนื่องจาก จิต เป็นสภาพธรรมที่ ไม่มีรูปร่าง (อสีรีรํ) จึงไม่สามารถติดต่อรับรู้อารมณ์ใดๆได้โดยตรง เมื่อเข้าไปถือกำเนิดในภพภูมิใดก็ตาม จะต้องสร้างรูปร่างกายไว้ใช้อาศัย(ภพ)สำหรับติดต่อกับอารมณ์อีกทอดหนึ่ง สำหรับมนุษย์นั้น จิตจะต้องสร้างร่างกายขึ้นสำหรับอาศัย โดยเข้าครอบครองหยดน้ำของบิดามารดาที่ผสมกันแล้ว จนกระทั่งหยดน้ำแห้งงวดเข้าตามลำดับ เรียกตามภาษาบาลีว่า กลละ, อัมพุชะ, คณเปสิ, ปัญจะสาขา ซึ่งแยกเป็นหัว ๑, มือ ๒, เท้า ๒ รวม ๕ กิ่งในที่สุด จัดว่าเป็นรูปทารกได้แล้ว แต่ยังต้องรอเวลาเจริญเติบโตในครรภ์มารดาอีก ๘-๙ เดือน จึงจะคลอดออกมาสู่โลกภายนอก รูปร่างกายมนุษย์ ที่คลอดออกมานี้ ประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ (มหาภูตรูป ๔) เนื่องจากมหาภูตรูป ๔ มีธาตุไฟประกอบอยู่ด้วย ดังนั้น รูปร่างกายจึงถูกธาตุไฟเผา ให้เปลี่ยนแปรสภาพไปตามกาลเวลาที่ล่วงไปตลอดเวลาเมื่อจิตเข้าครอบครองและยึดถือไว้ ตั้งแต่เป็นกลละอยู่,อย่างเหนียวแน่น เกิดความเพลิดเพลินยินดีและเข้าใจผิดว่าสิ่งสกปรกโสโครกรอบตัวนั้นอบอุ่นน่ารัก และเป็นตัวของตนเอง เพราะลืมสภาพที่แท้จริงของตนเองเสียแล้ว

เพราะฉะนั้นเมื่อคลอดและเติบโตขึ้น ก็ถือเอารูปร่างกายว่าเป็นตัวของตนเอง เมื่อรูปร่างกายป่วย ก็ทึกทักว่าเราป่วย เมื่อรูปร่างกายแก่เฒ่าลง ก็ทึกทักว่าเราแก่เฒ่า หรือเมื่อรูปร่างกายกำลังจะตาย ก็ทึกทักเอาว่าเรากำลังจะตาย ทั้งๆที่เราไม่ได้ป่วย ไม่ได้แก่เฒ่า ไม่ได้ตายและไม่ได้เป็นอะไรทั้งนั้น รวมทั้งไม่ใช่ผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง แต่เป็นเพียงผู้เข้ามาอาศัย รู้ อยู่ในรูปร่างกายที่ป่วย,แก่เฒ่าและกำลังจะตายลงเท่านั้น จิตมีความรักใคร่หวงแหนและเพลิดเพลินต่อสิ่งที่ร่างกายรายงานถึงมากที่สุด โดยมอบหน้าที่การรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น และร่างกายทุกส่วน สำหรับสัมผัสกับอารมณ์ทั้งหมด ไม่ว่าร่างกายจะรายงานรสชาติที่สัมผัสกับอารมณ์ ว่าเปรี้ยวหวานมันเค็มอย่างไรก็ตาม ก็ยกร่างกายทั้งชุด ให้แสดงบทบาทกับอารมณ์ไปตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นด้วย แล้วก็ส่งรายงาน ความรู้สึกจากการสัมผัสกันของ ร่างกาย กับ อารมณ์ ให้จิตทราบอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น จิตจึงพลอยเห็นดีเห็นงามและหลงใหลกับการรายงานของร่างกายทุกครั้ง ทั้งๆที่รายงานตรงข้ามกับความเป็นจริง ถึงขนาดที่กล่าวได้ว่า: ที่ไหนมีราคะ-ที่นั่นก็มีราคา, ที่ไหนมีราคา-ที่นั่นก็มีราคะ .

ร่างกายเป็นเพียงที่อาศัยของจิต(ภพ)ชั่วระยะหนึ่ง

มีพุทธพจน์จากพระธรรมบท ตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ จิตฺตํ ราชรถูปมํ, ยตฺถพาลา วิสีทนฺติ นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ" แปลว่า "พวกเธอทั้งหลาย จงดูโลก (ร่างกาย) อันวิจิตรดุจราชรถที่คนเขลาหมกมุ่นอยู่ แต่ ผู้รู้ หาข้องไม่" การที่สามัญชนยึดถือเอารูปร่างกายเป็นหลัก และพากันสมมุติเรียกว่า เป็นคน-เป็นสัตว์นั้น เพราะคิดว่ามองเห็นและสัมผัสได้ ใช้เป็นสื่อกระทบอารมณ์ได้เป็นอย่างดี แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นสัจธรรมข้อนี้แล้วว่า รูปร่างกาย ทั้งหลายนั้น เป็นแต่เพียง ที่อาศัยของจิต(ภพ)ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถดำรงอยู่ในสภาพหนึ่งสภาพใดอย่างเที่ยงแท้ถาวรได้ พอสิ้นอายุขัย ก็ต้องแตกแยกและสลายตัวสิ้นสภาพสุดท้ายไปเป็นธรรมดาเหมือนกันทุกคน จึงไม่สามารถนับเอารูปร่างกายเป็นหลักได้ แต่ทรงเห็นชัดเจนว่าในขณะที่รูปร่างกายแตกออกนั้น จิต ที่อาศัยอยู่ใน รูปร่างกาย เป็นสภาพธรรมที่เคลื่อนออก(จุติ) ไปสร้างรูปร่างกายใหม่สำหรับอาศัยต่อไปอีกตามลำดับ ไม่มีที่สิ้นสุดตลอดเวลาที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักร แต่สามารถฝึกฝนจิตหรือปฏิบัติจนจิตได้รับมรรคผลได้ ดังนั้น จึงทรงนับเอา จิตเป็นหลัก ร่างกาย กับ จิต จึงเป็นคนละอย่างกัน แต่อาศัยซึ่งกันและกัน กลมเกลียวเสมือนเป็นอย่างเดียวกัน.

จิตกับวิญญาณ (ธาตุรู้กับการรับรู้อารมณ์)

เนื่องจากจิตสามัญชน คุ้นเคยกับอารมณ์ทั้งหลายมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ดังนั้น เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ก็ย่อมรับรู้และยึดถืออารมณ์นั้นๆไว้เสมอไป จึงเกิดวิญญาณ ๖ ขึ้น

แต่จิตพระอริยะนั้น ได้รับการอบรมให้ปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายที่เข้ามากระทบเสีย วิญญาณ ๖ จึงดับหมดสิ้น เหลืออยู่แต่จิตบริสุทธิ์ นิ่ง สงบอยู่เท่านั้น

การรู้ของพระอริยะนี้เป็นเพียง รู้สักแต่ว่ารู้ (ญาณมตฺตาย) ระลึกก็สักแต่ว่าระลึก (ปฏิสฺสติมตฺตาย) เท่านั้น ไม่มีตัณหาและมิจฉาทิฏฐิปรุงแต่งอยู่ด้วย ดังพระบาลีว่า: "วิญฺญาณสฺส นิโรเธน ตณฺหกฺขย วิมุตฺติโน ปชฺโชตสฺ เสว วิญฺญาณํ วิโมกฺโข เจตโส อหุ" แปลว่า "จิตพระขีณาสพพ้นจากวิญญาณปรุงแต่ง เพราะหลุดพ้นจากตัณหาได้ เหมือนเปลวไฟที่แลบดับ เนื่องจากวิญญาณดับหมดสิ้น" จิตพระอริยะนั้นบริสุทธิ์,ไม่ได้ดับ การรับรู้อารมณ์เท่านั้นที่ดับไปจากจิต ส่วนจิตสามัญชน มีตัณหาและมิจฉาทิฏฐิ กำกับอยู่ด้วย จึงดูเหมือนว่าพลอยเกิดดับไปพร้อมอารมณ์ และหลงเข้าใจผิดว่าตัวเองเกิดดับ.

จิต ตัวตน คือเรา

ถ้าจิตไม่เข้าไปยึดถืออารมณ์ ก็ย่อมพ้นจากความตาย


ความตาย เป็นรูปแบบการเปลี่ยนแปรครั้งสุดท้ายของรูปร่างกาย หลังจากที่ได้ประชุมปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว พระพุทธองค์ ทรงหมายความถึง แตกแยกออกจากการประชุมพร้อมของ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ(จิต) แยกตัวออกไปผสมกับกลุ่มธาตุผสมกลุ่มอื่นต่อไป ตามเหตุปัจจัย ขณะสิ้นใจ

พูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือ วิญญาณธาตุ(จิต) จุติ (เคลื่อน)ออกจากรูปร่างกาย ซึ่งได้ปรวนแปรแตกแยกไป จนไม่สามารถกลับคืนมาสู่สภาพปรกติ,เท่านั้น ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน

โปรดดูคำจำกัดความของคำว่า ความตาย ใน สติปัฏฐานสูตร ซึ่งว่าไว้ดังนี้ คือ ความจุติ,ความเคลื่อนไป,ความแตกทำลาย,ความหายไป,มฤตยู,ความตาย,ความทำกาละ,ความแตกแห่งขันธ์,ความทิ้งซากศพไว้,ความขาดไปแห่งชีวิตินทรีย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จิตแยกออกจากรูปร่างกายนี้ทั้งสิ้น

เราจะเห็นได้ว่า จิตไม่ใช่สภาพธรรมที่ตาย แต่ได้เข้ามายึดถือและปฏิสนธิรวมอยู่กับร่างกายซึ่งจะต้องตายตามอายุขัย เมื่อร่างกายถึงเวลาแตกตายลง ก็เข้าใจว่าตนพลอยตายไปตามร่างกายด้วย ทั้งๆที่ตัวเองไม่ได้ตายเลย สิ่งที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ รูปร่างกาย ซึ่งเป็นสังขารธรรมที่ประชุมพร้อมกันขึ้นมาฝ่ายรูปธรรม เรียกว่า มหาภูตรูป ๔ ด้วยเหตุนี้ ความตายจึงมีขึ้นแก่ผู้ที่หลงผิดยึดเอารูปร่างกายซึ่งเป็นสังขารธรรม,ว่าเป็นอัตตาตัวตนของตนเองเข้า กล่าวคือ เมื่อรูปร่างกายแก่ ก็ว่าเราแก่ เมื่อรูปร่างกายเจ็บไข้ ก็ว่าเราเจ็บไข้ และเมื่อรูปร่างกายตาย ก็ว่าเราตาย ทั้งๆที่ ตัวเราจริงๆ ไม่เคยเกิด ไม่เคยแก่ ไม่เคยเจ็บไข้ และไม่เคยตายมาเลย ไม่ว่าตั้งแต่ครั้งไหน ๆ ก็ตาม เพราะฉะนั้น ถ้าจิตไม่เข้าไปยึดถืออารมณ์ ก็ย่อมพ้นจากความตายเมื่อนั้น นับเป็นการพ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนานี้ ดังพุทธพจน์ที่ได้ตรัสกับโมฆราชมาณพ ต่อไปนี้คือ "สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ เอวํ มจฺจุตฺตโรสิยา เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ" แปลว่า "ดูก่อนโมฆราช ท่านจงตั้งสติพิจารณาโลก(ร่างกาย)ว่าเป็นของว่าง โดยถอนอัตตานุทิฏฐิออกไปเสีย ด้วยการพิจารณาโลก ดังนี้ พระยามัจจุราช ก็จะแลไม่เห็นท่าน และท่านก็จะพ้นจากความตาย".

จิต ตน ธรรม เรา คือ สิ่งเดียวกัน

มีเรื่องบรรยายในมหาปรินิพพานสูตร ตอนหนึ่งว่า ครั้งหนึ่ง ขณะที่พระอานนท์ได้เข้ากราบทูลถามพระอาการประชวร ของพระพุทธองค์ว่าทรงเป็นอย่างไรบ้างนั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบว่า

อานนท์ จิตของเราได้ตั้งอยู่ ณ ที่ อนิมิตตเจโตสมาธิวิหาร ไม่มีนิมิตหมายอื่นใดอยู่ เราจึงหายป่วยแล้ว เราไม่ได้ป่วย แต่ที่ป่วยนั้นเป็นเรื่องของร่างกาย

ด้วยเหตุนี้แหละอานนท์ เธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง หรือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ดังนี้

พระพุทธองค์ทรงแสดงชัดเจนว่า จิต ตน ธรรม เรา คือสิ่งเดียวกัน ส่วนรูปร่างกายนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นที่อาศัยของเราเท่านั้น

คำว่า อนิมิตตเจโตสมาธิวิหาร นั้น หมายถึง จิตที่ได้รับการฝึกฝนให้สลัดอารมณ์ทุกชนิดออกไปอย่างหมดจดสิ้นเชิง ด้วยความชำนาญคล่องแคล่ว โดยการฝึกฝนปฏิบัติ“สัมมาสมาธิ” ในสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งจัดเป็น จิตชั้นพุทโธ ดังนั้นจึงตรัสว่า จิต ตน ธรรม เรา คือสิ่งเดียวกัน.

พระพุทธองค์ทรงสอนพระวักกลิว่า จิตคือเรา

พระวักกลิ เป็นพระภิกษุรูปหนึ่ง ที่เข้าใจผิดว่า รูปร่างกายคือเรา จึงได้ตามเสด็จพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด ด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่องว่าได้เข้าใกล้ชิด และเข้าถึงพระพุทธเจ้าแล้ว ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงทราบความในใจของพระวักกลิเรื่องนี้อยู่ เมื่อได้โอกาสจึงตรัสว่า วักกลิ เธอสำคัญมั่นหมายเอารูปร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งปฏิกูลเน่าเปื่อยได้ของเรา ว่าเป็นเรา และ กระหยิ่มยิ้มย่องว่าได้อยู่กับเรา ใกล้เรา ถึงเรา คนตาบอดมืดมิดเช่นเธอ ไม่ต้องพูดถึงการเดินตามหลังก็ได้ ต่อให้จับชายจีวรของเราไว้อีกด้วย ก็ไม่เห็นเรา ไม่รู้จักเรา ไม่ถึงเรา ไม่ใกล้เรา แต่ต่างกันอย่างฟ้ากับดินทีเดียว ทางตั้งแต่ที่นี้ไปถึงเขาจักรวาลที่ว่าไกลนั้น ก็ยังนับว่าใกล้กว่า แต่เธอกับเราห่างกันไกลยิ่งกว่านั้น เป็นแสนไกลล้านไกลทีเดียว วักกลิ เมื่อเธอต้องการจะเห็นเรา ใกล้เรา ถึงเรา เราก็จะบอกทางให้ แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า "โย ธมฺมํ ปสฺสติ โสมํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา"

แสดงว่า จิต คือ ธรรม คือ เรา ส่วน รูปร่างกาย ไม่ใช่เรา แต่ เป็นที่อาศัยของเรา เท่านั้น

วิทยุออนไลน์

ยินดีต้อนรับทุกๆท่านที่ชอบฟังธรรมะ

 สวดมนต์จีน >::สวดมนต์อินเดีย >และสวดมนต์ธิเบต>::สวดมนต์ไทย >::เสียงหนังสือธรรมะ >::เสียงเพลงธรรมะ::,

 ::suwanradio คือมิตรภาพบนโลกไอที ::
 

สถานีความแห่งความรู้สาระธรรมบนโลกอินเตอร์เน็ต ศูนย์รวมแห่งเสียงธรรมะดีดี 


วิทยุวัดป่าดอนสวรรค์

Blogger Tricks


 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons