วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สมาธิในพระพุทธศาสนา

สมาธิในพระพุทธศาสนา

ในมรรคมีองค์ ๘ ท่านสงเคราะห์

“สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ” เป็น สมาธิ

หมายความว่า ในการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนานี้

มรรคทั้ง ๓ จะทำงานสัมพันธ์กันตลอดเวลา เพื่อรวมจิตให้สงบเป็นสมาธิ

กล่าวคือ จะต้องสลัดนิวรณ์อันเกิดขึ้นเนื่องด้วยอารมณ์กระทบออกไปให้หมด

ด้วย “สัมมาวายามะ” ยกจิตขึ้นเพ่งดูอารมณ์ ในสติปัฏฐาน ๔

และประคองจิตมิให้แลบออกไปสู่อารมณ์อื่นๆด้วย “สัมมาสติ”

เกิดความอิ่มใจ เบากาย เบาใจ เป็นสุข ที่จิตสงบขึ้น

และจิตปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์

จนหมดในที่สุด ด้วยอำนาจ “สัมมาสมาธิ”

เพราะฉะนั้น สัมมาสมาธิ จึงไม่ใช่สมาธิแบบหินทับหญ้า

เหมือนดังสมาธิของศาสนาอื่น

ซึ่งยึดอารมณ์เดียวแนบแน่นเป็นเอกัคคตา แต่ประการใด

แต่เต็มไปด้วยพลัง สติ ระวังตัว สงบตั้งมั่นอยู่เสมอ

เมื่อพลังสติทำงานอย่างเต็มที่อยู่เช่นนี้แล้ว

ก็ย่อมมีผลให้การพูด การทำ การคิด

ดำเนินการได้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมไปด้วย

ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติสัมมาสมาธิจึงไม่มีทางเป็นบ้าไปได้เลย

ถ้าพูดให้ถูกแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่หายจากการเป็นบ้ามากขึ้น

(ที่หลงเข้าไปยึดถือสิ่งภายนอกอย่างผิดๆฝ่าฝืนสัจธรรมมาตลอดเวลา)

ทำให้พูดถูก ทำถูก คิดถูก ยิ่งขึ้นโดยลำดับ

นี่คือประโยชน์ที่เกิดจากการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนา

สำหรับผู้ที่ปฏิบัติสมาธิแล้วเป็นบ้านั้น ถ้าได้พิจารณาสาเหตุดูแล้ว

ส่วนมากเกิดจากยกจิตขึ้นสู่อารมณ์กามคุณ ด้วยปรารถนาลามก

ไม่ได้ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔

ไม่ได้ใช้สติ สกัดกั้นความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยกามคุณนั้นๆ

คงปล่อยจิตให้ยินดีเพลิดเพลิน

และหวังว่าจะหาโอกาสนำมาครอบครองต่อไปในอนาคต

เช่น เพ่งดูรูปผู้หญิงเพื่อทำเสน่ห์ ดูเลข หวยเบอร์ เป็นต้น

ย่อมเป็นบ้าอย่างไม่มีปัญหา

ด้วยเหตุผลดังที่ได้บรรยายมานี้

ผู้ปฏิบัติสมาธิที่หวังความพ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนา

จึงต้องจำทางเดินของจิต รวมทั้งวิธีวางจิตให้แม่นยำและแยบคาย

เพื่อให้เกิดสมาธิขึ้นโดยใช้เวลาน้อยที่สุด ที่เรียกว่า วสี

ซึ่งจะควบคุมจิตไม่ให้ถูกนิวรณ์ครอบงำได้ดีที่สุด

(วสี คือ ความชำนาญในการเข้า-ออกจากสมาธิ)

คำแนะนำการปฏิบัติสมาธิ

คำแนะนำการปฏิบัติสมาธิ


๑.ตั้งกายให้ตรงและทำจิตให้สบาย
เลิกคิดถึงเรื่องราวในอดีตต่างๆที่ผ่านไปแล้ว
เลิกคิดถึงเรื่องราวในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
และเลิกคิดถึงเรื่องราวใดๆเฉพาะหน้าเสียทั้งสิ้น

๒.อธิษฐานจิตว่าดังนี้
“ณ โอกาสนี้ ข้าพเจ้าจะตั้งสติพิจารณาลมหายใจเข้าออกเพียงประการเดียวเท่านั้น
เมื่อลมหายใจออกก็รู้ชัด และเมื่อลมหายใจเข้าก็รู้ชัดตามความเป็นจริง
ขอให้จิตของข้าพเจ้าเป็นสมาธิและเกิดมีสติปัญญาอันไพบูลย์ด้วย”

๓.สิ่งที่จะต้องจำให้แม่น ก็คือ
ในขณะที่กำลังกำหนดลมหายใจเข้าออกอยู่นั้น
ลมหายใจสัมผัสเด่นชัดตรงจุดใดมากที่สุด(ที่ริมฝีปากบน ที่ปลายจมูก หรือในช่องจมูก)
ก็ให้ตั้งสติไว้ให้แน่นอยู่ที่ตรงจุดนั้นเพียงแห่งเดียว
อย่าให้เลื่อนไปอยู่ที่อื่นตลอดชีวิตของเรานี้
อุปมาดังการตอกเสาเข็มลงไปให้แน่นอยู่ในหิน
ระวังอย่าให้สติแลบออกไปจากจุดนี้
หรืออย่าให้สติแล่นตามลมหายใจเข้าไปข้างในหรือออกไปข้างนอกเป็นอันขาด

๔.เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิดีแล้ว ลมหายใจเข้าออกก็จะสงบประณีตตามไปด้วย
ทำให้ชำนาญและรักษาจิตที่อยู่ในสภาวะนี้ไว้ตลอดเวลา
เมื่อมีสิ่งใดมากระทบจิต ก็ระวังรักษาจิตไว้ไม่ให้หวั่นไหวฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์นั้นๆ
ระวังรักษาจิตให้มีสมาธิอยู่เสมอ จิตก็จะแจ่มใสเกิดมีปัญญาผ่องใส
เหมาะแก่การงานต่างๆรวมทั้งการเล่าเรียนที่กำลังดำเนินอยู่นี้ด้วย

๕.คุณค่าของความเป็นมนุษย์อยู่ที่ตรง ระวังรักษาจิตให้มีสมาธิอยู่เสมอ
ไม่ให้หวั่นไหวฟุ้งซ่านเมื่อมีอารมณ์ภายนอกมากระทบ
ตรงนี้แหละที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะคุ้มครองรักษาผู้ปฏิบัติ
ให้พ้นจากภัยพิบัติต่างๆได้ อย่างมิต้องสงสัย

๖.พิจารณาอยู่เนืองๆว่า ลมหายใจเข้าออกของเราที่สูดเข้าสูดออกอยู่นี้
เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ถาวรอะไร ไม่ช้าก็ต้องพลัดพรากจากร่างกายนี้ไปแน่นอน
จึงควรระวังรักษาจิตซึ่งไม่ตายนี้ไว้ให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสเสมอ
๗.คำแผ่เมตตาประจำวัน
ให้พึงตั้งจิตแผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยความจริงใจและตั้งใจที่สุด
และกล่าวว่าดังนี้
“สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
ขอให้มีความสุขกายสุขใจ รู้จักรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ”

สติปัฏฐาน สี่

สติปัฏฐาน ๔


คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่ได้เสด็จออกประกาศพระศาสนาไปทั่วชมพูทวีป

หรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน เพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส

ก็คือ สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งมีชื่อเรียกได้หลายอย่างตามความเหมาะสม

และขนบธรรมเนียมในท้องถิ่นที่ทรงผ่านไปนั้น เช่น

ทางสายกลางบ้าง,ทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์บ้าง,

อริยมรรคบ้าง,มรรคมีองค์ ๘บ้าง,ศีล-สมาธิ-ปัญญาบ้าง

ดังนั้น สติปัฏฐาน ๔ จึงเป็นที่สนใจและยอมรับของชาวพุทธ

เป็นที่รวบรวมข้อปฏิบัติทั้งหลายไว้ด้วยกันอย่างถูกต้องและครบถ้วนที่สุด

เพราะฉะนั้น มหาสติปัฏฐานสูตร จึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญในพระพุทธศาสนา

ที่ควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติจริง,ด้วยแล้ว

ประโยชน์ย่อมผ่านพ้นไปอย่างน่าเสียดายที่สุด เหมือนดังไม่ได้พบพระพุทธศาสนาทีเดียว

สติปัฏฐาน ๔ มีหลักคำสั่งสอนอยู่ที่การสร้างสติของผู้ปฏิบัติตาม

ให้ตั้งอยู่ที่ฐานที่ได้เลือกไว้แล้ว,อย่างมั่นคงในเมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบจิต

โดยการยกจิตให้เข้าไปตั้งอยู่ ณ ฐานแห่งใดแห่งหนึ่งใน ๔ แห่งบ่อยๆเนืองๆ คือ

ที่ฐานกาย ๑ ฐานเวทนา ๑ ฐานจิต ๑ หรือ ฐานธรรม ๑ ซึ่งรวมเรียกว่า มหาสติปัฏฐาน ก็ได้

ถ้ายกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานใดฐานหนึ่ง ดังกล่าวมานี้ได้สำเร็จอย่างมั่นคง

สติปัฏฐานย่อมเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติย่อมไม่ถูกอารมณ์ทั้งหลายครอบงำจิตใจ

เพราะเปลี่ยนความสนใจจากอารมณ์ที่กำลังเข้ามากระทบเฉพาะหน้า

ให้เข้าไประลึกรู้ชัดอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติแทนเสียได้

ทั้งนี้หมายความว่า

อารมณ์พร้อมทั้งความรู้สึกยินดียินร้ายที่เนื่องด้วยอารมณ์นั้นๆก็จะดับตามไปด้วย

ซึ่งจะส่งผลให้จิตแสดงคุณธรรมที่ถูกต้องฝ่ายกุศล

และเป็นประโยชน์แก่สังคมแทนที่ตามมาด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่าฐานทั้ง ๔ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเลือกฐานใดไว้เป็นที่ตั้งของสติก็ตาม

ย่อมกระเทือนและส่งผลกระทบไปถึงฐานอื่นที่เหลือ

และทำให้ผู้ปฏิบัติคลายความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์

กับการปรุงแต่งอันเนื่องจากอารมณ์(โลก)ดับไปตามลำดับเหมือนกันหมด

ทั้งนี้เป็นเพราะอารมณ์ทั้งหลายซึ่งจะเข้ามาถึงจิตนั้น จะต้องผ่านเข้ามาทางฐานกาย

เมื่อกระทบอายตนะทางกายแล้ว ก็ย่อมเกิดความรู้สึกทุกข์สุขทางฐานเวทนา

เมื่อรู้สึกทุกข์สุขทางเวทนาแล้ว ก็ย่อมปรุงแต่งฐานจิตให้ยินดียินร้ายขึ้น

เมื่อฐานจิตเกิดยินดียินร้าย ก็ย่อมมีสิ่งต่างๆจากภายนอกมาประกอบเป็นฐานธรรมขึ้น

ซึ่งจะต้องละวางออกไปให้หมดสิ้น

จนจิตบริสุทธิ์หลุดพ้นจากความเศร้าหมองเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิงในที่สุด.

วิทยุออนไลน์

ยินดีต้อนรับทุกๆท่านที่ชอบฟังธรรมะ

 สวดมนต์จีน >::สวดมนต์อินเดีย >และสวดมนต์ธิเบต>::สวดมนต์ไทย >::เสียงหนังสือธรรมะ >::เสียงเพลงธรรมะ::,

 ::suwanradio คือมิตรภาพบนโลกไอที ::
 

สถานีความแห่งความรู้สาระธรรมบนโลกอินเตอร์เน็ต ศูนย์รวมแห่งเสียงธรรมะดีดี 


วิทยุวัดป่าดอนสวรรค์

Blogger Tricks


 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons